วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558


อารยธรรมอียิปต์โบราณ

Ancient Egyptian Civilization


สภาพภูมิศาสตร์
อียิปต์ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ทางทิศเหนือคือทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางทิศตะวันออกคือทะเลแดง ทิศใต้คือนูเบียร์ หรือซูดานในปัจจุบัน ทิศตะวันตกคือทะเลทรายซาฮาร่า ภูมิอาศของอียิปต์โบราณนั้นมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง มีฝนตกเพียงเล็กน้อยในฤดูหนาว และตกเฉพาะบริเวณเดลต้า คือดินแดนสันดอนตอนบริเวณปากแม่น้ำไนล์ ลักษณะเช่นนี้มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกและเกษตรกรรม ดินแดนอียิปต์ตั้งอยู่ระหว่างหุบเขา นอกหุบเขาออกไปเป็นทะเลทราย ซึ่งถือเป็นพรมแดนธรรมชาติที่ช่วยป้องกันศัตรูภายนอกได้เป็นอย่างดี ตรงกลางหุบเขามีแม่น้ำไนล์ไหลผ่าน ซึ่งจะนำความชุ่มชื้นมาให้อียิปต์ และในเดือนมิถุนยาน-กรกฎาคมของทุกๆปี น้ำจะท่วมทั้งสองฝั่ง และจะเริ่มลดในเดือนตุลาคม หลังจากน้ำลดจะทิ้งโคลนตมไว้บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเป็นปุ๋ยอย่างดี ทำให้เกษตรกรรมได้ผลดี จากสภาพภูมิศาสตร์แบบนี้ ทำให้เฮโรโดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกกล่าวว่า "Egypt is the gift of the Nile" ทำให้แม่น้ำไนล์มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของอียิปต์มาก ทำให้ชาวอียิปต์สามารถสร้างสรรค์อารยธรรมหรือความเจริญให้กับสังคมโลก

ความเจริญรุ่งเรืองของอียิปต์

ความเจริญในยุคโบราณ
ความเจริญของอียิปต์ในยุคโบราณในระยะเวลาประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์จะอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ประชาชนมีอาชีพทางการเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ มีหัวหน้าหมู่บ้านปกครองดูแลความปลอดภัยให้กับชุมชน เมื่อพลเมืองเพิ่มมากขึ้น หมู่บ้านจึงขยายใหญ่ขึ้น ๆ จนกลายเป็นรัฐเล็ก ๆ ประมาณ 40 กว่ารัฐ ต่อมารัฐเหล่านี้ได้รวมตัวกันเข้าเป็นอาณาจักรใหญ่ 2 อาณาจักรด้วยกัน ได้แก่
(1) อียิปต์บน (Upper Egypt) ได้แก่ บริเวณที่แม่น้ำไนล์ไหลผ่านหุบเขา มีความยาว 800 ไมล์ กว้าง 15 - 20 ไมล์
(2) อียิปต์ต่ำ (Lower Egypt) ได้แก่ บริเวณที่แม่น้ำไนล์แตกสาขาออกเป็นรูปพัดไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน บริเวณนี้เรียกว่า เดลต้า (Delta) มีความยาวประมาน 200 ไมล์ กว้าง 6 - 22 ไมล์

สมัยราชวงศ์
ระยะเวลาประมาณ 3,200 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์เมเนส (Menes) รวมอียิปต์บนและอียิปต์ต่ำเข้าด้วยกัน ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ที่หนึ่งขึ้นปกครองอียิปต์ จากหลักฐานศิลาจารึกโรเชตตา (Rosetta Stone) ที่ขุดพบบริเวณปากแม่น้ำไนล์เมื่อปี ค.ศ. 1799 และต่อมาได้รับการตีความจากนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ชองโปลิยอง (Champolion) ทำให้ได้ทราบประวัติศาสตร์ของอียิปต์เพิ่มขึ้นว่า สมัยราชวงศ์นี้แบ่งออกเป็นสมัยย่อยๆ 3 สมัย
สมัยราชอาณาจักรเก่า (The Old Kingdom) ระยะเวลาประมาณ 3,000 - 2,100 ปีก่อนคริสตกาล ลักษณะการปกครองในสมัยอาณาจักรเก่าเป็นแบบรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลาง มีเมืองหลวงอยู่ที่ธีบีส (Thebes) ในอียิปต์บน ฟาโรห์ทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทรงออกกฎหมาย ทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุด ทรงเป็นผู้บัญชาการทัพบกและบัญชาการทางด้านพลเรือน นโยบายทางการปกครองของฟาโรห์ในยุคนี้คือ ไม่รุกรานใคร รักความสงบ
สมัยราชอาณาจักรเก่านี้ หลักฐานบอกว่ามีฟาโรห์ปกครองทั้งหมด 6 ราชวงศ์ ราชวงศ์ที่ 3 ได้ตั้งเมืองเมมฟิส (Memphis) เป็นเมืองหลวง ราชวงศ์ที่ 4 มีความเจริญทางศิลปะสูง ที่ทรงเน้นมากคือการสร้างพีระมิด ทำให้บางครั้งเรียกยุคนี้ว่า ยุคพีระมิด สมัยราชวงศ์ที่ 6 อาณาจักรเริ่มเสื่อม เพราะพวกขุนนางตามท้องถิ่นเริ่มมีอำนาจมาก ทำการกระด้างกระเดื่องและยึดอำนาจจากฟาโรห์ โดยเฉพาะตามท้องถิ่นต่าง ๆ เกิดการแย่งชิงอำนาจอยู่ประมาณ 200 ปี มีผลทำให้อำนาจของฟาโรห์อ่อนแอลงมาก

สมัยราชอาณาจักรกลาง (The Middle Kingdom) ประมาณ 2,100 - 1,580 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์เมเนมเฮท (Amenemhet) สร้างความมั่นคงให้กับอียิปต์ ทรงดึงอำนาจกลับคืนมาได้โดยได้รับความช่วยเหลือจากประชาชน จึงทรงตอบแทนโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองโดยมิได้คำนึงถึงชาติตระกูล สมัยของฟาโรห์พระองค์นี้อียิปต์เจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ศิลปกรรม อละวรรณคดี เรียกว่าเป็นยุคทองของอียิปต์เลยทีเดียว เหตุการณ์ต่อมาปรากฎว่าพวกฮิคโซส (Hylksos) ซึ่งเป็นอนารยชนป่าเถื่อนจากเขตปาเลสไตน์เข้ารุกรานอียิปต์ พวกนี้รู้จักใช้ม้าและรถศึกในการต่อสู้ ในขณะที่อียิปต์ใช้ทหารเดินเท้า ผลจากการที่ฮิคโซสเข้ามารุกรานทำให้ชาวอียิปต์เกิดความรู้สึกชาตินิยม มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมกำลังกันต่อต้านศัตรู ทำให้เริ่มมีความคิดในการเตรียมกำลังไว้ให้พร้อมที่จะรับกับข้าศึกในอนาคตด้วย

สมัยราชอาณาจักรใหม่ หรือสมัยจักรวรรดิ (The New Kingdom) ประมาณ 1,580 - 1,090 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์อาโมสที่ 1 (Ahmose I) ทรงเป็นผู้นำในการขับไล่พวกฮิคโซสออกไปได้สำเร็จ เป็นสมัยแห่งความเป็นปึกแผ่นกว่ายุคใด ๆ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการขยายอำนาจ ตีได้ดินแดนต่าง ๆ มากมาย เช่น ตีได้ดินแดนชายแดนตอนใต้คือนูเบีย ได้ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำไทกริส - ยูเฟรติส ขยายดินแดนไปถึงซีเรีย ปาเลสไตน์ เอธิโอเปีย อาณาจักรอียิปต์จึงยิ่งใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็นจักรวรรดิ ลักษณะการปกครองดินแดนที่ยึดมาได้ จะให้เจ้าผู้ครองดินแดนเหล่านั้นปกครองกันเอง และให้นำตัวโอรสของผู้ครองแคว้นมาเป็นตัวจำนำที่อียิปต์
การแผ่ขยายอำนาจของอียิปต์ออกไปอย่างกว้างขวางก่อให้เกิดปัญหาตามมาคือ การปกครองดูแลไม่ทั่วถึง ความอ่อนแอของรัฐบาลกลางเริ่มปรากฎ โดยเฉพาะในสมัยของฟาโรห์อัคนาตัน (Akhnaton, 1375 - 1358 BC) หรืออาเมนโฮเตปที่ 4 (Amenhotep IV) ทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษกับความเชื่อทางศาสนาใหม่ที่ทรงตั้งขึ้น คือ อาเตน (Aten) การกระทำของพระองค์ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนมากขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อียิปต์อ่อนแอและเริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งตกอยู่ใต้การปกครองของแอสซีเรียน เปอร์เซียน และมาซิโดเนียน ตามลำดับ หลังจากนั้นในยุคที่จักรวรรดิโรมันรุ่งเรือง อียิปต์ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันด้วย

มรดกอารยธรรมของอียิปต์
ความพยายามในการที่จะเอาชนะธรรมชาติและศัตรูภายนอกที่มารุกรานเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญให้อียิปต์ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด จนประสบความสำเร็จและสามารถสร้างสรรค์ความเจริญให้กับโลกในหลายด้านด้วยกัน

การปกครอง 
ฟาโรห์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศทั้งในยามสงครามและยามสงบ เป็นประมุขทั้งทางศาสนาและอาณาจักร ชาวอียิปต์เชื่อว่าฟาโรห์ทรงเป็นเทพเจ้าที่อวตารมาปกครอง ทรงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในการปกครองหลายระดับ อาทิเช่น วิเซีย (Vizier) ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ แทนฟาโรห์อยู่ในเมืองหลวง ดูแลการปกครองภายใน การเกษตร การชลประทาน รักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ นอกจากนี้ ฟาโรห์ยังทรงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น โดยที่การบริหารงานการปกครองระดับทท้องถิ่นแบ่งออกเป็น โนมิส (Nomes) มีข้าหลวงประจำโนมิสที่เรียกว่า โนมาร์ค (Nomarches) ปกครองดูแลเกี่ยวกับการเก็บภาษี การรักษาความสงบปลดภัยในท้องถิ่น การพิจารณาพิพากษาคดี การชลประทาน

ทางด้านนการศาลซึ่งถือเป็นหน่วยหนึ่งของการปกครองนั้น ปรากฎว่าอียิปต์มีศาลถึง 6 ศาล มีหัวหน้าผู้พิพากษาเป็นผู้ดูแลความยุติธรรม คดีทุกคดีต้องขึ้นศาลทั้งสิ้น เมื่อคดีผ่านการพิจราณาแล้วถ้าประชาชนเห็นว่าไม่ยุติธรรม สามารถที่จะถวายฎีกาไปยังฟาโรห์ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสูงสุดได้

ศาสนา ชาวอียิปต์โบราณนับถือเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนมานับถือเทพเจ้าองค์เดียว (Monotheism) แต่ละนครรัฐมีเทพเจ้าประจำท้องถิ่นของตน เช่น อามอน (Amon) เป็นเทพเเจ้าประจำนครธีบีส เร, รา (Re, Ra) เป็นเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ โอซิริส (Osiris) เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์

นอกจากนี้ ชาวอียิปต์ยังเชื่อในเรื่องวิญญานเป็นอมตะและโลกหน้า จากความเชื่อนี้ จะทำให้ชาวอียิปต์โดยเฉพาะพวกชนชั้นสูงนิยมฝังศพคนตายไปพร้อม ๆ กับข้าวของเครื่องใช้และอาหาร ส่วนร่างกายก็จะเก็บรักษาไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยด้วยการทำเป็นมัมมี่ มีการสร้างสุสานไว้เก็บพระศพ ความเชื่อในเรื่องวิญญานเป็นอมตะทำให้ชาวอียิปต์เกิดความคิดเกี่ยวกับโลกนี้และโลกหน้า เชื่อว่าโลกหน้าจะเป็นโลกที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งผู้ตายจะต้องพิสูจน์ความดีของตนก่อนไปอยู่โลกหน้า ฉะนั้น ผู้ตายมักจะเขียนเรื่องราวแสดงความบริสุทธิ์และความดีของตนเพื่อน้ำไปแสดงต่อเทพเจ้าโอซิริส หนังสือนี้้เรียกว่า บันทึกของผู้วายชนม์ (Book of the Dead) ถ้าเขียนอยู่บนกำแพงพีระมิด เรียกว่า พีระมิดเท็กซ์ (Pyramid Texts) ส่วนที่เขียนไว้ตามฝาหีบศพ เรียกว่า คอฟฟินเท็กซ์ (Coffin Texts)

ศิลปะและสถาปัตยกรรม การสร้างพีระมิดถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 สิ่งของโลกโบราณเลยทีเดียว เพราะการสร้างพีระมิดต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมหาศาล พีระมิดที่เมืองกิเซ (Gizeh) สร้างถวายฟาโรห์คูฟู (Khufu) เป็นพีระมิดขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานคนถึงหนึ่งแสนคน กินระยะเวลาในการก่อสร้างนานถึง 20 ปี
สถาปัตยกรรมอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการยกย่องไม่แพ้พีระมิด คือ การสร้างวัด โดยเฉพาะวิหารที่คาร์นัคและลุคซอร์ สร้างอย่างใหญ่โตและมั่นคงแข็งแรงมาก เพื่อแสดงถึงความมีอำนาจของฟาโรห์และความยิ่งใหญ่ของชาติ

ทางด้านประติมากรรม นิยมสร้างสรรค์งานในรูปแกะสลัก ที่เด่นคือ สฟิงซ์ (Sphinx) เป็นรูปสิงโตที่มีหน้าเป็นผู้หญิง อยู่ข้างที่ฝังพระศพของฟาโรห์คีออปส์ (Cheops) อีกรูปหนึ่งคือ พระเศียรของพระนางเนเฟอติติ (Nefertiti) มเหสีของฟาโรห์อิคนาตัน
วรรณคดีและการเขียนหนังสือ ชาวอียิปต์โบราณคิดประดิษย์ตัวอักษรขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล เรียกว่าอักษรเฮียโรกลีฟฟิก (Hieroglyphic) เป็นอักษรภาพที่ใช้เป็นเครื่องหมายแทนสิ่งต่าง ๆ พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นตัวพยัญชนะ 24 ตัว ต่อมาอียิปต์ได้แบ่งตัวอักษรของตนเป็น 2 พวก คือ อักษรเฮียราติก (Hieratic) ใช้ในวงการธุรกิจติดต่อค้าขาย สำหรับอักษรเดโมติก (Demotic) นั้นใช้ทั่ว ๆ ไป
ทางด้านวรรณคดีอียิปต์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น เพลงสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า

วิทยาศาสตร์ ชาวอียิปต์สนใจในเรื่องดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์มาก ทางด้านดาราศาสตร์นั้น มรการคำนวณระยะเวลาที่แม่น้ำไนล์ท่วมฝั่งเพื่อวางแผนสร้างพีระมิด มีการทำปฏิทินทางสุริยคติ ทำแผนที่เกี่ยวกับท้องฟ้าบอกทิศทางของดวงดาวต่าง ๆ เป็นที่น่าเสียดายว่าในสมัยหลัง ๆ ชาวอียิปต์ไม่ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ความก้าวหน้าในเรื่องนี้มีไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น

ส่วนทางด้านคณิตศาสตร์นั้น ชาวอียิปต์เป็นผู้วางรากฐานหลักวิชาเลขคณิตและเรขาคณิต รู้จักวิธีบวก ลบ และหาร แต่ไม่รู้จักวิธีคูณ ค้นพบระบบเลขทศนิยม รู้จักวิธีคำนวณหาปริมาตรของพีระมิด

การแพทย์ ในระยะแรก ๆ ยังรักษาพยาบาลคนป่วยไข้ด้วยความเชื่อในเรื่องเวทมนต์คาถา ประมาณ 1,700 ปีก่อนคริสตกาลเริ่มนำแนวทางของวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการรักษา ทำให้การแพทย์ของอยิปต์เจริญขึ้นเป็นลำดับ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เช่น จักษุแพทย์ ทันตแพทย์ และศัลยแพทย์ แพทย์อียิปต์มีความเข้าใจในความสำคัญของหัวใจ มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด รู้จักใช้น้ำเกลือรักษาบาดแผลเพื่อป้องกันการอักเสบ ใช้ด่างในการรักษาบาดแผล มีการค้นพบการทำน้ำยารักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย
วิทยาศาสตร์อีกสาขาหนึ่งที่ชาวอียิปต์มีความก้าวหน้าไม่แพ้ชนชาติอื่น คือ ความก้าวหน้าทางด้านชลประทาน ทำการทดน้ำด้วยวิธีสร้าง ขุดคูคลองระบายน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและการคมนาคม

การค้า ชาวอียิปต์ทำการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านหลายชนชาติ สินค้าออกที่สำคัญของอียิปต์ คือ ผ้าลินิน กระดาษปาปิรุสซึ่งทำมาจากต้นปาปิรุส เครื่องเพชรพลอย ส่วนสินค้าเข้า ได้แก่ ทองคำ วัว ควาย ปลา งาช้าง ขนนกกระจอกเทศ และเหล็ก การติดต่อค้าขายทำให้วัฒนธรรมและความเจริญของอียิปต์เผยแพร่เข้าไปในดินแดนต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

อารยธรรมอียิปต์โบราณมีถิ่นกำเนิดบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ แม่น้ำไนล์ช่วยนำความอุดมสมบูรณ์มาให้แก่อียิปต์ ภายใต้การปกครองของฟาโรห์เมเนส ทรงรวมอียิปต์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพช่วยให้อียิปต์สามารถสร้างสรรค์ความเจริญด้านต่าง ๆ ได้สำเร็จ